สิ่งที่ได้จากการไป BarCamp BangKhen #BCBK

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปงาน Barcamp Bangkhen มาครับ จัดโดยน้องๆ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ถือว่าจัดได้ดีเลยทีเดียว คนมาค่อนข้างเยอะ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเด็กที่ภาคอยู่ แล้วก็ข้าวเที่ยงอร่อยมาก เสื้อสวยดี 😀 จำนวนหัวข้อที่เสนอไว้ ผมคิดว่ายังน้อยไปหน่อย ถ้าเทียบกับจำนวนคนที่มา สงสัยอาจจะเขินๆ กันอยู่ 😛

ได้เสื้อมา 2 ตัว ตัวแรกได้ฟรีจากตัวงานเอง ส่วนอีกตัวซื้อมาจากบูทของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ตัวละ 200 บาทเอง

ใครอยากได้ก็ห้ามพลาดโอกาสหน้านะครับ ฮะๆ ในงานนี้ ผมได้เข้าฟัง 5 หัวข้อ และเก็บมาเล่าต่อดังนี้ครับ

หัวข้อที่ 1 วิธีการสร้าง Profile ให้ตัวเองตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย โดย @ripmilla และ @macroart

เริ่มด้วยการเล่าประสบการณ์ในการคัดตัวน้องๆ ที่มาสมัครเข้าค่าย Young Web Master โดยจะสังเกตเห็นได้ว่า เด็กๆ ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำ profile ให้น่าสนใจ ถึงแม้จะมีความสามารถ แต่ยังคงพรีเซนต์ความสามารถของตัวเองไม่เป็น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องนำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากชาวบ้าน เพื่อให้คณะกรรมการสะดุดเห็น และสนใจในงานของเรา การสร้าง Profile วิธีหนึ่งคือ เราต้องผลักดันสิ่งที่เราชอบขึ้นมา แล้วทำให้เป็นสิ่งที่หน้าสนใจต่อคนอื่นให้ได้

มีคนจาก ThaiThinkPad (น่าจะ @tomazzu) จบจากวิศวกรรมเหมืองแร่ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่ว่าตอนแรกสมัครไปที่ไหน ก็ไม่มีใครรับ เพราะว่าเกรดเฉลี่ยต่ำ เลยไปเขียนบทความในเว็บ Exteen.com บันทึกชีวิตนักศึกษาตอนฝึกงาน จนมีคนมาเห็น และได้ทำงาน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาให้แตกต่างกับคนอื่น

@FordAntiTrust จาก ThaiThinkPad อีกคน  เริ่มเขียนบล็อกตั้งแต่ปี 1 เกี่ยวกับสิ่งที่ชอบในเรื่อง Web Framework หรือ CSS และในปัจจุบันก็สร้าง Portfolio โปรโมตการถ่ายรูปของตัวเอง และโพสต์เรื่อยๆ จนมาคนมาพบเอง จนตอนนี้เริ่มมีคนมาจ้างให้ไปถ่ายรูปแล้ว

แล้วก็มีศิษย์เก่าจาก KU มาร่วมแชร์ประสบการณ์ รับงาน Outsource ตั้งแต่สมัยเรียน หาเงินกินข้าว + เหล้า และเริ่มทำเกมบน facebook ตอนปี 3 แล้วก็ได้รับความสนใจมาก พอเรียนจบก็มาเปิดบริษัทเอง และได้เล่าประสบการณ์ในการเปิดรับสมัครงาน สนับสนุนว่าผู้สมัครที่มี Profile ดี และนำเสนอตัวเองเป็น ก็จะเด่นขึ้นมา

และมีน้องคนหนึ่งมาเล่าว่าเค้าชอบเล่นบาสมาก เขียนบล็อก ทวีตเกี่ยวกับบาส จนเคยได้ไปออกรายการไม่หลับไม่นอน ซึ่งก็เป็นการย้ำว่าถ้าเราชอบอะไร เราต้องพยายามดันสิ่งที่เราชอบไปให้คนอื่นสนใจให้ได้

ในตอนท้ายๆ เจ้าของหัวข้อก็ได้แนะนำต่อว่า การนำเสนอตัวเอง ไม่ควรจะนำเสนอจุดด้อยออกมา ควรจะนำเสนอแต่ด้านดีๆ ยกตัวอย่าง เด็กที่จบคอมฯ มา ชอบบอกว่า เขียนโปรแกรมไม่เก่งบ้าง ไม่อยากเขียนโปรแกรมบ้าง อันนี้ไม่ควรพูด ส่วนทรานสคริปก็บอกได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะสามารถทำงานได้หรือเปล่า ส่วนใหญ่ตัว Profile จะเป็นตัวบอก

อีกอย่างที่สำคัญก็คือ ในการสัมภาษณ์ เราห้าม "แถ" เด็ดขาด เพราะถ้าโดนจับได้ เราอาจจะหมดสิทธิเกิดเลยทีเดียว

หัวข้อที่ 2 Introduction to jQuery โดย @nattster

เริ่มต้นก็เล่าเรื่องและแสดงให้เห็นว่าเมื่อก่อนถ้าจะเขียน Java Script จะค่อนข้างลำบาก และจะต้องมาทำให้ทุกบราวเซอร์แสดงผลให้เหมือนกันอีกด้วย ตัวโค้ดจะค่อนข้างยาว ทำให้เกิด jQuery ขึ้นมา โดยถ้าเราใช้ jQuery โค้ดจะดูง่ายกว่าการเขียนแบบเดิมมาก และเราสามารถเขียนโค้ดได้สั้นลงแต่ทำงานได้เหมือนเดิม ช่วงหลัง เจ้าของหัวข้อก็แสดง Feature ต่างๆ ที่แจ่มๆ ของ jQuery ให้ดู

และที่ผมเพิ่งรู้เลย และชอบมากก็คือ เราสามารถแยกส่วนโค้ด jQuery กับส่วนของ HTML ได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องมี Java Script ใส่ส่วนของ HTML เลย

หัวข้อที่ 3 Robotics (หุ่นยนต์ที่ MK สุกี้ สาขา ทองหล่อ) โดย คุณทศพล

เป็นแขกรับเชิญจากบริษัท CTAsia Robotics มาพูดเรื่องหุ่นยนต์ และมาเล่าประสบการณ์ว่า เราจะสามารถนำหุ่นยนต์ไปใช้ในเชิงธุรกิจได้อย่างไร โดยบริษัทนี้ผลิตหุ่นยนต์ในไทย และเริ่มขายได้จริงแล้ว เป้าหมายตอนนี้คือ สร้างหุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร และลูกค้ารายแรก ไม่ใช่ใครอื่น นั่นก็คือ MK! หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า "ดินสอ" และเจ้าของหัวข้อก็กล่าวถึงการสร้างและการออกแบบ จนกว่าจะมาเป็นหุ่นยนต์ดินสอได้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ในปัจจุบันหุ่นยนต์ตัวนี้อยู่ในขั้นทดลองใช้อยู่ เป็นแบบเดินตามเส้น ในอนาคตจะใช้เปลี่ยนไปใช้ Marker แทน

ช่วงท้ายก็ได้ทิ้งคำแนะนำไว้ว่า การพัฒนาต้องพัฒนาให้ต่อเนื่อง ต้องวิจัยไปด้วย และเรายังต้องทำการตลาดด้วย! ถ้าทำได้ เราจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงในด้านนี้

หัวข้อที่ 4 Security & Privacy โดย อ. เสฎฐวิทย์

เรื่องที่พูดจะเน้นให้ เราตระหนักถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของเรา ในการใช้พวก Social Network โดยหลักๆ แล้ว เว็บพวกนี้จะเอาข้อมูลของเราไปประมวลผลเพื่อโฆษณาสินค้า และยกตัวอย่างกรณีหนึ่งของ Sarah Palin ซึ่งเป็นนักการเมือง ที่โดนแฮ็กอีเมลของ Yahoo! โดยตอนนั้น การ reset password ของ Yahoo! เราจะต้องตอบ 3 คำถาม ถึงจะสามารถล็อกอินเข้าไปได้ คนที่มาแฮ็กก็หาข้อมูลส่วนตัวเองเธอจากอินเตอร์เนท แล้วเอาไปตอบ รู้สึกจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม. ในการหาคำตอบ

กล่าวถึงกรณี Facebook

  1. เรื่องความเป็นเจ้าของนั้น เวลาที่เรายกเลิกสมาชิกแล้ว Facebook ก็ยังสามารถใช้รูปเราได้อยู่ และอาจจะใช้ประโยชน์กับข้อมูลเราต่อไปได้
  2. การกำหนด Privacy เป็นสิ่งที่เราควรเข้าไปเซต และค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยาก (ทำวิจัยมา อาจจะต้องคลิกถึง 1,000 ครั้ง กว่าจะเสร็จ)
  3. การแท็กรูป ถ้าแท็กเรากับรูปที่ไม่ดี อาจจะทำให้เราเสียชื่อเสียงได้ และช่วงนี้จะมีการแท็กเราใส่โฆษณาบ่อยขึ้น
  4. การทำควิซนั้น ได้กล่าวถึงว่าเวลาเราทำ Quiz คนที่สร้าง Application นี้ขึ้นมาจะสามารถดึงข้อมูลอะไรของเราได้บ้าง โดย ACLU ได้แสดงให้เห็นว่าเวลาเราทำควิซ ข้อมูลอะไรที่เขาสามารถดึงไปได้
  5. การเก็บข้อมูล (Data Retention) ซึ่งถ้าเราลบข้อมูลของเราไปแล้วจากหน้าเว็บ แต่จริงๆ แล้ว Facebook ไม่ได้ลบข้อมูลไปจริงๆ จะยังคงเก็บไว้อยู่ประมาณ 18 เดือน!

กรณี Twitter

  1. การ Retweet ในปัจจุบันได้รับการแก้ไขแล้ว โดยส่วนตัวผมว่าแก้ไม่ได้จริงๆ หรอก เพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังคงใช้ Retweet แบบเก่าอยู่
  2. Public Tweet ทั้งหมดของเราจะถูกเก็บใน Library of Congress จนถึงตอนนี้ ทางหอสมุดก็ไม่ได้บอกว่าจะนำไปใช้ทำอะไร

กรณี Google

  1. Web History จะเก็บข้อมูลไว้หมดว่าเราไปเว็บไหนบ้าง ค้นหาอะไรบ้าง
  2. Street View ซึ่งเราจะสามารถเห็นรูปถนนจากแผนที่ได้เลย อาจจะเสียความเป็นส่วนตัวไป
  3. Wifi Fiasco โดยกูเกิ้ลสามารถดูได้ว่าตรงไหนมี Wifi ฟรี และกูเกิ้ลยังเก็บข้อมูลจาก Wifi ฟรี นั่นอีกด้วย เราคงไม่อยากให้คนอื่นรู้แน่ๆ ว่าเรากำลังทำอะไร
  4. Goggles ซึ่งพอเราไปถ่ายรูปที่ไหน แล้วเอาเข้า Googles เราจะสามารถรู้ได้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ อยู่ด้วย และมีประเด็นคือถ้ามีหน้าของเราติดอยู่ด้วย กูเกิ้ลจะเอารูปหน้าเราไปทำอะไรก็ได้ เช่น แปะหน้าเราในโฆษณา

กรณี Location Services ที่เราสามารถ check-in กับสถานที่นั้นๆ ได้ ทำให้เราเสียความเป็นส่วนตัวไปอย่างแน่นอน เพราะคนอื่นสามารถรู้ได้ว่าเราอยู่ที่ไหน เวลาไหน มี 2 โปรแกรมที่เด่นๆ คือ

  1. Foursquare
  2. Gowalla

ทิ้งท้ายไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ฟรีอย่างแท้จริง เราใช้บริการของเค้า เค้าก็ได้ข้อมูลของเราเป็นการตอบแทน แล้วก็เอาไปทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง จากนี้ไปเราควรจะตระหนักว่าข้อมูลของเรานั้นมีค่ามาก และเราคุ้มหรือเปล่าที่จะยินยอมให้คนอื่นเอาไปใช้ (เจ้าของหัวข้อไม่ได้หมายความว่าให้เลิกเล่นนะครับ แต่หมายความว่าให้เราใช้อย่างมีสติ และระมัดระวังให้มากขึ้น)

หัวข้อสุดท้าย หัวข้อที่ 5 Show Case: Compiz Effect โดย @ubuntuEWTC

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาแสดงสด ก็เลยอัดวีดีโอมา แล้วก็บรรยายตามครับ ก็ตามชื่อหัวข้อครับ เป็นการแสดง Compiz Effect สวยๆ สอนวิธีเซตเพื่อเปิด effect นั้นๆ ผมชอบ effect สำหรับการเปลี่ยน workspace (Alt + Ctrl + ซ้าย ขวา ขึ้น ลง) และก็สำหรับการสลับโปรแกรม (Alt + Tab) ที่ใช้งานอยู่ ส่วนอย่างอื่นก็เอาไว้เล่นแก้เบื่อ แต่ถ้าเอาไปใช้งานจริงๆ ผมคงไม่ใช้แหละ 🙂

ผมมีโอกาสได้พูดหัวข้อของผมด้วย เรื่อง Adapting Scrum to Managing a Research Group ครับ ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับ -/\- เสียดายที่ไม่ได้อยู่จนจบงาน มีงานครั้งหน้าเมื่อไหร่ จะไปอีกแน่นอนครับ อย่าลืมบอกผมด้วยนะ แหะๆ

ใครมีอะไรเพิ่มเติม แนะนำ ก็ยินดีครับ จัดมาได้เลย 😀

บล็อกของชาวบ้านที่เขียนถึงงานนี้

Author: zkan

Soon to be a newbie data scientist. I ♥ machine learning, computer vision, robotics, image processing, data visualization, and data analytics.

4 thoughts on “สิ่งที่ได้จากการไป BarCamp BangKhen #BCBK”

  1. ต้องรีบอั๊พบล้อกตัวเองสร้างโปรไฟล์ซะแร้วววว : )

    ลายเสื้อเท่ห์มากเลยพี่กาน อยากได้มั่ง.. T^T

  2. ดีใจที่ได้ไป งานสนุก แต่ที่ทำให้ตะลึงสุดกลับเป็นมหาวิทยาลัยเองนี่แหละ เปลี่ยนไปจำแทบไม่ได้ เดินหลงไปหลงมา เสียท่าศิษย์เก่าหมด 😛
    ปีหน้าคงได้เจอกันใหม่ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *