กราฟสถิติข้อมูลน้ำในเขื่อนภูมิพลปี 2009-2011

ข้อมูลนี้ผมนำมาจาก Thaiwater.net นะครับ คิดว่าเชื่อถือได้ 🙂 มี 3 กราฟหลักๆ ด้วยกัน ตามนี้


รูปแสดงปริมาตรเก็บกักน้ำในปี 2009-2011

จากกราฟข้างบน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตั้งแต่ประมาณกลางเดือน เม.ย. ปริมาตรน้ำในเขื่อนมีมากกว่าทั้งปี 2009 และปี 2010 ซึ่งเขื่อนภูมิพลจะรองรับได้ถึง 13,462 ล้าน ลบ.ม. พอตอนปลายๆ ก.ย. น้ำพุ่งถึงระดับสูงสุดที่เขื่อนจะรองรับได้ 🙁 ทีนี้มาดูปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ กันบ้าง (ไม่ใช่อ่าง ในอาบ อบ นวด นะ อันนั้นน้ำล้นได้ไม่เป็นไร อะฮิๆ)


รูปแสดงปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในปี 2009-2011

ดูจากกราฟแล้ว ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ ของปี 2011 จะเริ่มเพิ่มขึ้นประมาณกลางเดือน เม.ย. ถ้าเทียบกับปี 2009 ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจะพอๆ กันจนถึงประมาณปลายเดือน มิ.ย. หลังจากนั้นเป็นต้นไป ปริมาณน้ำของปี 2011 จะมากกว่าจากทั้ง 2 กราฟข้างต้นนี้ จุดเริ่มต้นของปัญหามันน่าจะอยู่ที่ช่วงกลาง เดือน เม.ย. และจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นตอน ปลายเดือนมิ.ย.

แล้ววิธีแก้? สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านการจัดการน้ำอย่างผม แต่เนื่องจากที่ผมทำงานทางด้านข้อมูลและสถิติมานานพอสมควร วิธีแก้ของผมนั้นง่ายมาก นั่นคือ ผมจะอ้างอิงข้อมูลสถิติจากปีก่อนๆ ว่าน้ำเข้ามามากเท่าไหร่ ควรปล่อยน้ำออกไปเท่าไหร่ มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่าไหร่ แล้วค่อยมาดูว่าปีนี้เรามีน้ำเข้ามาเท่าไหร่ แล้วเราควรจะปล่อยน้ำออกไปเท่าไหร่ตามความเหมาะสม ข้อมูลทางสถิติเป็นอะไรที่เชื่อถือได้จริงสำหรับผม (จริงๆ ข้อมูลที่ผมนำมาเปรียบเทียบกันแค่ 3 ปีอาจจะน้อยไป แต่คิดว่าน่าจะพอเห็นภาพและเข้าใจได้) ทีนี้เรามีดูปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนในปี 2009-2011 กัน


รูปแสดงปริมาณระบายน้ำในปี 2009-2011

ผมขอเทียบข้อมูลตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. ของทั้ง 3 ปีนะครับ สังเกตได้ว่าปี 2011 มีปริมาณการปล่อยน้ำน้อยกว่าทั้งปี 2010 และ 2009 มาก ดูแล้ว "ไม่สมเหตุสมผล" เลย ปริมาณน้ำเข้ามากขึ้น เราก็ควรจะปล่อยน้ำมากขึ้น แต่นี่กลับปล่อยน้ำน้อยลง จนเกือบเป็น 0 โดยเฉลี่ยช่วงกลางเดือน พ.ค. ถึง ปลายเดือน มิ.ย. กราฟตอนต้นเดือน ต.ค. ยิ่งน่าตกใจ เพราะว่าเขื่อนได้ปล่อยน้ำออกมาสูงมากจนน่าตกใจ แต่ถ้าย้อนกลับไปดู 2 กราฟที่แล้ว จะเห็นได้ว่านี่เป็นการป้องกันเขื่อนพัง (ถ้าพังนี่หายนะจริงๆ นะ) หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คาดว่าไม่ได้จงใจจะสร้างความเดือดร้อน แต่มันจำเป็นจริงๆ ที่ทุกคนต้องเดือดร้อน

ไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอกอะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยเราก็ควรจะอ้างอิงหลักสถิติไว้ เราถึงจะรับมือกับปัญหาได้ทันท่วงทีครับ บล็อกนี้ผมต้องการจะเน้นด้วยว่าหลักสถิตินั้นสำคัญ ไม่ควรเพิกเฉย สุดท้ายแล้วนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิกฤตบังเกิดในปี 2011 เริ่มก่อตัวตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. และแสดงตัวออกมาตอนต้นเดือน ส.ค.

อย่างไรก็ตามผมก็ขอให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยดีครับ เป็นกำลังใจให้ผู้ประสบอุทกภัยทุกท่าน -/\-

ปล. ใครที่อยากจะแสดงความคิดเห็น กรุณาอย่ามีการเมืองมาเกี่ยวข้องครับ ขอบคุณครับ