การมีตัวตนบนโลกอินเตอร์เนท (Internet Presence)

ในโลกยุคปัจจุบันเราคงไม่สามารถปฎิเสธได้อีกต่อไปว่า อินเตอร์เนท สามารถเชื่อมต่อคนเกือบทั้งโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เลยอยากเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้คนยุคใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีตัวตนบนโลกอินเตอร์เนท (Internet Presence) ให้มากขึ้น จะขอเน้นถึงการสมัครงานเป็นหลักนะ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครก็ตามที่กำลังมองหาความท้าทายใหม่ เพราะเมื่อมีใบสมัครส่งเข้ามา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณเก่งจริง คุณอยากร่วมงานกับเรา และเราต้องการคุณด้วยจริงๆ

แม้ว่าบล็อกนี้จะพูดถึงอาชีพ "โปรแกรมเมอร์" เป็นหลัก แต่ผมมั่นใจว่าเนื้อหาจะสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับอาชีพอื่นๆ ได้แน่นอน กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวถึงต่อไป จะเป็นกระบวนการที่ทีม R&D ที่บริษัท Pronto Marketing ใช้อยู่ ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงในอนาคตครับ

Internet Presence มีผลต่อการสมัครงานมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ เนื่องจากอะไร?

เนื่องจาก curriculum vitae (CV) ของเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ มันจะค่อนข้างเหมือนกัน แตกต่างกันก็อาจจะแค่ที่ความสนใจในเทคโนโลยี แต่มันเอามาบ่งบอกไม่ค่อยได้เลยว่าเด็กคนนั้น หรือผู้สมัครคนนั้น เก่งจริงหรือไม่ แม้ว่าจะมีเกรดสวยหรูใน Transcript ก็ตาม หลายคนอาจจะตอบว่าก็เรียกมาคุยก่อนสิ แต่โดยส่วนตัวผมมองว่าการเรียกมาคุยแต่ละรอบนั้นค่อนข้างเสียเวลาทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเค้า เวลาคุยเราจะยกทีมไปคุยกันทั้งทีม แน่นอนทุกคนให้ความสำคัญ แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับเวลาทำงานที่เสียไป 2-3 ชม.

อีกทั้งในโลกปัจจุบันนี้อาจจะพูดได้ยากว่า ลองรับเข้าไปก่อน ฝึกงาน 3 เดือน รับรองว่าทำได้จริง.. ถ้าเป็นที่ทีม R&D ขอบอกว่า ข้อเสนอนี้จะโดนปัดตกไปแน่นอน 🙂

Internet Presence จึงเป็นสิ่งที่จะบอกความแตกต่างของเด็กจบใหม่ หรือคนที่ยื่นใบสมัครงานได้อย่างดี ดังนั้นสิ่งที่ผมทำเป็นอันดับแรกเมื่อได้รับ CV มาคือ เอาชื่อไปเซิชใน Google ครับ ใช่ครับ ก๊อบปี้เอาชื่อผู้สมัครไปแปะในช่องเซิชของกูเกิ้ล แล้วหาว่าผู้สมัครคนนี้มีดีอะไร 🙂 ถ้ามีชื่ออยู่ใน search results ของกูเกิ้ลแล้ว ทีนี้เราจะมาดูต่อว่าคุณทำอะไรมาบ้าง คุณไปร่วมงานไหนมา ถ้าน่าสนใจ โอกาสที่จะได้ร่วมงานกันก็สูงขึ้นครับ นั่นคือ เราจะไปดู Profile ของคุณจริงๆ กัน

บางคนมี CV ยาวเหยียด แต่กลับเซิชชื่อในกูเกิ้ลแล้วไม่เจอ มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ผมถามในใจ ในเมื่อทำงานสาย IT มาเยอะขนาดนั้น แต่กลับเซิชชื่อในกูเกิ้ลไม่เจอ ลองไปไปเซิชหลายๆ ที่ดูต่อ และสุดท้ายถ้าไม่เจอจริง ก็ Reject ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ฮะๆ

ดังนั้น อยากจะขอย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของ "การมีตัวตนอยู่บนโลกอินเตอร์เนท" อีกครั้ง ว่ามันสำคัญจริงๆ นะ อาจจะไม่ใช่แค่การสมัครงาน การสร้างทีม การเลือกคนมาร่วมงาน ฯลฯ ขอฝากคำพูดที่ผมได้ยินมาจาก อ. ที่ปรึกษาผมไว้หน่อย ตามนี้

"If I cannot find you on the Internet, you don't really exist in this world."

ถ้าใครสนใจเรื่องการสร้างทีม ผมแนะนำให้ลองไปอ่านบทที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง คน (People) ในหนังสือ "คิดแบบอัจฉริยะ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" หรือ "Think Like Zuck"

think-like-zuck

จะพูดถึงการสร้างทีมด้วย ประมาณว่า ที่ Facebook มีขั้นตอนการคัดเลือกคนที่เข้มงวดมากเพื่อให้มั่นใจว่าได้เลือกคนที่ถูกต้อง (ผมประทับใจมากเลยนะที่บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Facebook ได้ตระหนักถึงคุณค่าของพนักงานอย่างมากถึงมากที่สุด) ผมมั่นใจว่า Facebook จะต้องมีขั้นตอนการกรองคนจากการมีตัวตนของผู้สมัครบนโลกอินเตอร์เนทด้วยแน่นอน

สุดท้ายมีคำแนะนำคือ เวลาสมัครพวก Social network ให้ใช้ชื่อจริง ถ้าใครชอบเขียนโค้ดก็ให้อัพโหลดโค้ดเข้า Github หรือ Bitbucket ไว้ด้วย ยิ่งถ้าไปถามคำถามหรือไปตอบคำถามใน StackOverflow ด้วยยิ่งดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้ Profile ของคุณน่าสนใจขึ้นมาก

อ้อ.. ถ้ามีงานอีเว้นต์ต่างๆ เช่น BarCamp หรือ BugDay หรือ อะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องลังเลเลยนะ สมัครไปร่วมงานเลย รับรองว่ามีผลดีต่อคุณแน่นอน

จบ.. (เอาเวลางานมานั่งเขียนบล็อกเล่นจะโดนด่าไหม)

Author: zkan

Soon to be a newbie data scientist. I ♥ machine learning, computer vision, robotics, image processing, data visualization, and data analytics.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *